23 กันยายน 2564

อังกฤษรับผู้อพยพชาวอัฟกานิสถาน 2 หมื่นคน ให้อาศัยได้อย่างถาวร Afghanistan

 

อังกฤษรับผู้อพยพชาวอัฟกานิสถาน 2 หมื่นคน ให้อาศัยได้อย่างถาวร



Afghanistan: อังกฤษประกาศอ้าแขนต้อนรับผู้อพยพชาวอัฟกานิสถาน 2 หมื่นคน ให้อาศัยได้อย่างถาวร ภายในไม่กี่ปีนับจากนี้

 

 

รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ปริติ พาเทล ของสหราชอาณาจักร เปิดเผยแผนต้อนรับผู้อพยพชาวอัฟกานิสถานกว่า 2 หมื่นคน พร้อมเปิดช่องทางให้พำนักได้อย่างถาวรในอีกไม่กี่ปีนับจากนี้

 

 

ปีแรก สหราชอาณาจักรจะเปิดรับผู้อพยพชาวอัฟกาฯ 5 พันคนก่อน ให้ความสำคัญกับผู้หญิง เด็กผู้หญิง และกลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ เป็นหลัก โดยนโยบายนี้ ไม่นับรวมโครงการย้ายถิ่นฐานให้กับล่ามและเจ้าหน้าที่ชาวอัฟกันคนอื่น ๆ ที่เคยทำงานให้รัฐบาลสหราชอาณาจักร ในช่วงสงคราม

 

 

อย่างไรก็ดี ฝ่ายค้านวิจารณ์ว่า รัฐบาลอ้าแขนรับผู้อพยพชาวอัฟกานิสถานน้อยเกินไป และอันที่จริง ปีแรกควรเปิดรับผู้อพยพให้ได้ถึง 2 หมื่นคนด้วยซ้ำ และตั้งเป้ารับผู้อพยพอย่างน้อย 35,000 - 40,000 คน

 

 

ทั้งนี้ จะมีการอภิปรายในสภาวันนี้ ส่วนรายละเอียดการสมัครเข้าร่วมโครงการนั้น จะประกาศในเร็ว ๆ นี้

 

 

นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ยังได้ยกสายคุยกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ถึงการอพยพคนออกจากกรุงคาบูล โดยผู้นำทั้งสองเห็นพ้องว่า ต้องช่วยเหลือผู้คนที่ต้องการออกนอกประเทศ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

21 กันยายน 2564

“โรงแรมในอวกาศ” แห่งแรก เตรียมเปิดบริการปี 2027 ค่าที่พัก 5 ล้านเหรียญสหรัฐ

 “โรงแรมในอวกาศ” แห่งแรก เตรียมเปิดบริการปี 2027 ค่าที่พัก 5 ล้านเหรียญสหรัฐ




“โรงแรมในอวกาศ” แห่งแรก เตรียมเปิดบริการปี 2027 ค่าที่พัก 5 ล้านเหรียญสหรัฐ -

1) ปีนี้การท่องเที่ยวอวกาศเริ่มประเดิมเที่ยวแรกกันแล้วทั้ง Blue Origin และ Virgin Galactic เมื่อมีเที่ยวบินแล้ว ลำดับต่อไปที่ต้องมีคือ “โรงแรมในอวกาศ” !! โดยรายแรกที่มีความคืบหน้าคือ Orbital Assembly ซึ่งจะสร้างโรงแรม “Voyager Station” ขึ้นในอวกาศ


2) ลักษณะโรงแรมจะเป็นวงแหวนดูเหมือนกับชิงช้าสวรรค์ ภายในมีห้องพัก 280 ห้อง ส่วนหนึ่งในนี้จะเป็น ‘วิลล่าตากอวกาศ’ ที่จะเปิดให้บรรดาเศรษฐีซื้อไว้เป็นของตนเองได้ด้วย นอกจากนี้จะมีภัตตาคาร บาร์ ฟิตเนส และแหล่งรวมความบันเทิง เหมือนกับรีสอร์ตไฮเอนด์บนพื้นโลก


3) โรงแรม Voyager Station เปิดตัวครั้งแรกในปี 2019 (ขณะนั้นใช้ชื่ออื่น เพิ่งเปลี่ยนชื่อในภายหลัง) กำหนดการก่อสร้างจะเริ่มปี 2026 และคาดว่าจะเปิดบริการได้ในปี 2027


4) ปัจจุบัน Voyager Station เป็นโรงแรมอวกาศแห่งแรกที่เปิดให้ “จองที่พัก” สนนราคา 5 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 150 ล้านบาท) สำหรับที่พักระยะเวลา 3 วันครึ่ง (ใครสนใจกดจองได้ที่นี่ >> https://voyagerstation.com/)


 
5) โรงแรมแห่งนี้ไม่ใช่แห่งเดียวที่จะขึ้นไปอยู่บนอวกาศ ยังมีอีก 2 แห่งที่ประกาศเปิดตัวแล้ว ได้แก่ “AxStation” ของบริษัท Axiom Space และโรงแรม “Aurora Station” ของบริษัท Orion Span








ที่มา : https://youtu.be/4bLz_4LKMsg , https://youtu.be/8Oh5ARY_MCM , Travel+Leisure


Chao Siam แบรนด์แคบหมูสัญชาติไทยในอเมริกา

 Chao Siam แบรนด์แคบหมูสัญชาติไทยในอเมริกา

หลายคนอาจคุ้นเคยกับ ‘แคบหมู’ ในฐานะของกินเล่นยามว่าง เครื่องเคียงของก๋วยเตี๋ยวเรือ และอาหารสัมผัสกรุบกรอบที่จิ้มน้ำพริกแล้วอร่อย แต่สิ่งที่บางคนไม่รู้คือแคบหมูไม่เพียงแต่เป็นอาหารรสนัวที่คนไทยโปรดปรานเท่านั้น เพราะหากได้ลองไปเยือนอีกฟากหนึ่งของโลกอย่างอเมริกา แล้วเดินเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตไปแถวๆ ชั้นวางสแน็ก คุณอาจเจอกับแคบหมูหลากหลายสัญชาติที่คนอเมริกันนิยมกินเป็นขนมขบเคี้ยวยามว่าง

และหากเดินเข้าไปในซูเปอร์มาร์เก็ตในฮาวาย คุณอาจเจอ Chao Siam แบรนด์แคบหมูสัญชาติไทยที่วางขายอยู่ท่ามกลางแคบหมูแบรนด์อื่นๆ

ธนะโรจน์ ธีรชัชวาลวัฒน์ คือผู้ก่อตั้งแบรนด์นี้ที่เริ่มต้นทำธุรกิจตั้งแต่อายุ 23 ด้วยเงินเพียง 50 ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะค่อยๆ พัฒนา สร้างทุน โรงงาน ตลาด และกระจายสินค้าไปวางขายในร้านขายของชำและร้านค้าชั้นนำ เช่น ABC Stores, Walmart, 7-Eleven, Longs Drugs, Foodland และปั๊มน้ำมันอย่าง Aloha Gas และ HELE

กว่าจะประสบความสำเร็จจนถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการทำธุรกิจอาหารแปรรูปในประเทศที่เข้มงวดเรื่องกฎหมายและความปลอดภัยต้องอาศัยการลงมือทำอย่างถูกต้องและเติบโตด้วยตัวเองอย่างแท้จริง สิ่งเหล่านี้แหละที่เจ้าของแบรนด์ Chao Siam บอกว่าภูมิใจที่ได้ทำธุรกิจในประเทศพัฒนาแล้วมากที่สุด

เตรียมน้ำพริกไว้ให้พร้อม แล้วตามไปดูเบื้องหลังกว่าจะเป็นแคบหมูสัญชาติไทยในฮาวายกัน

จากไส้กรอกอีสานสู่แคบหมูที่เริ่มต้นด้วยทุน 50 ดอลลาร์สหรัฐ

ก่อนจะเป็นเจ้าของธุรกิจในฮาวาย ธนะโรจน์เริ่มต้นชีวิตในอเมริกาหลังจากเรียนจบ ปวส.ที่วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ตั้งแต่อายุ 21 ปี ก่อนหน้านั้นพ่อของเขาแต่งงานกับผู้หญิงฮาวายคนหนึ่งและย้ายมาตั้งรกรากอยู่ด้วยกัน เมื่อเรียนจบเขาจึงบินตามมาทำงานกับพ่อโดยไม่รู้ว่านั่นคือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต

“มาถึงที่นี่ผมก็ทำงานฟาร์มกับพ่อ แต่อาจจะเป็นเพราะเราไม่ได้อยู่ด้วยกันมานานเป็นสิบปี พอผมมาอยู่กับพ่อได้ 4 เดือนเราก็เลยไม่เข้าใจกัน

“ผมไม่รู้จะไปไหน ตอนแรกคิดว่าจะกลับไทย แต่ต้องส่งเงินไปดูแลทางบ้านที่ไทยด้วย น้องก็ยังเรียนอยู่ แม่ก็ทำงานหนัก เราต้องช่วย มันเลยกลับไม่ได้ เรามาที่นี่โอกาสมันเยอะกว่า แล้วผมเป็นคนไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ ไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเราไม่สู้เราจะไม่รู้เลย”

วัดไทยจึงเป็นคำตอบที่เขาเลือกในตอนนั้น แม้ธนะโรจน์จะอาศัยพื้นที่ศาสนาในการอยู่อาศัย แต่เขายังคงจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟให้กับวัด ซึ่งรายได้ทั้งหมดมาจากการทำงานร้านอาหารและร้านขายดอกไม้ในฮาวายที่รวมกันตกวันละ 12 ชั่วโมง

“ผมชอบขายของ ตลอดการทำงานได้ประมาณ 2 ปีก็เห็นว่ามีช่องทางบางอย่างที่จะทำธุรกิจได้ ผมเห็นว่าในฮาวายคนที่มีทุนมาเปิดร้านอาหารไทยกันเยอะมาก แต่ว่าเป็นอาหารแบบซ้ำๆ กัน ผมก็มาดูว่าแล้วมีเมนูไทยอะไรที่ยังไม่มีคนทำบ้าง”

ไส้กรอกอีสานคือสิ่งแรกที่เขานึกถึง ด้วยเพราะเป็นอาหารที่มีเอกลักษณ์ มีรสชาติที่ปรับให้ถูกปากคนอเมริกันได้ เขาจึงเดินทางกลับไทยเพื่อเรียนรู้สูตรกับคนเฒ่าคนแก่ในเชียงใหม่อยู่เกือบ 2 เดือน แล้วจึงกลับมาทำขายที่ฮาวายอีกครั้ง

“ผมพัฒนาสูตรอยู่ 8 เดือน มันยากมาก เพราะต้องปรับสูตรให้เข้ากับปากคนอเมริกัน อีกอย่างคือที่นี่ไม่มีเครื่องปรุงครบเหมือนอยู่ไทย บางอย่างต้องปรับเอา มันเลยไม่ได้สูตรที่โอเคสักที พอทำเสร็จแล้วเอาไปขายในตลาด ผลตอบรับก็ไม่ดี” 

เมื่อเห็นว่าผลตอบรับไส้กรอกไม่เป็นไปอย่างที่หวัง แต่ความตั้งใจจะทำธุรกิจยังไม่ล้มเลิก ธนะโรจน์กลับมาคิดว่าจะมีอาหารไทยอะไรบ้างที่เขาสามารถทำขายที่นี่ได้

“ผมเป็นคนลำปางแล้วชอบกินแคบหมู ก็นึกขึ้นได้ว่ามันน่าจะทำได้”

เพราะเป็นคนไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ และอยากทดลองทำตามสิ่งที่คิด ธนะโรจน์ในวัย 23 จึงเริ่มต้นจัดแจงซื้อหนังหมูมาในราคา 50 ดอลลาร์สหรัฐ

“มีทุนเท่านี้เลยซื้อมาแค่ไม่กี่กิโลฯ แล้วลองทำใส่ถุงซิปล็อกได้ประมาณ 5-6 ถุง ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรมากเลย”

สิ่งที่ธนะโรจน์ทำหลังจากนั้นคือการจับแคบหมูใส่ถุงใบใหญ่ แบกขึ้นรถบัสที่วิ่งในเมืองโฮโนลูลูไปวางขายในร้านผักของคนไทยในย่านไชน่าทาวน์ เสร็จแล้วก็เดินทางกลับมาที่พัก แต่ยังไม่ทันที่รถบัสจะเคลื่อนตัวได้ถึงครึ่งทาง เจ้าของร้านก็โทรกลับมาหาเขาว่า “เฮ้ยน้อง แคบหมูหมดแล้วนะ” 

จาก 8 เดือนที่หักโหมกับไส้กรอก ไม่น่าเชื่อว่าสุดท้ายแล้วอาหารอย่างแคบหมูจะกลายมาเป็นแสงสว่างในเส้นทางการทำธุรกิจของธนะโรจน์

จากทุนไม่ถึงร้อยสู่แบรนด์แคบหมูที่มีโรงงานผลิตในเมืองโฮโนลูลู

หลังจากประสบความสำเร็จจากการขายแคบหมูครั้งแรก ธนะโรจน์ค่อยๆ พัฒนาธุรกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะต้องทำงานในร้านอาหารกับร้านขายดอกไม้ไปด้วยเพื่อให้มีทุนในการต่อยอด

“นี่คือเคล็ดลับของผม เพราะเราไม่ได้มีต้นทุนแต่แรก ถ้าจะทำธุรกิจไม่ให้ล้มเราต้องมั่นใจก่อนว่าจะมีเงิน อย่าเพิ่งออกมาทำเต็มตัวเลย มันจะเกินกำลัง”

แม้จะต้องลงแรงกว่าคนอื่น แต่เขาบอกว่าการทำงานในอเมริกาทำให้สามารถสะสมต้นทุนพอที่จะเริ่มทำธุรกิจได้ ธนะโรจน์ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า เขารับทำงานหลายที่ทำให้ได้เงินเดือนละ 3,500 ดอลลาร์สหรัฐ หักค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและส่งไปให้ครอบครัวที่ไทยแล้วยังพอมีเงินเหลือก็สะสมไว้สำหรับทำธุรกิจ

ส่วนต้นทุนอย่างเวลา เขาแบ่งเวลาก่อนเริ่มงานประมาณ 7 โมงเช้าและหลังเลิกงานช่วง 3 ทุ่มมาทำแคบหมู หรือตอนหลังถ้าเริ่มได้กำไรจากการขายมากขึ้น เขาจะเริ่มลดวันทำงานที่ร้านจาก 7 วันเหลือ 6 วัน และค่อยๆ ลดวันลงมาเรื่อยๆ เพื่อให้เวลากับธุรกิจของตัวเอง

“ตอนแรกที่ผมยังไม่มีทุนมากก็ต้องใช้พื้นที่วัดทำงานไปก่อน ช่วงที่เริ่มทำเยอะขึ้นก็เกณฑ์ป้าๆ กรรมการวัดมาเป็นพนักงานเราด้วย” เขาหัวเราะเมื่อนึกย้อนความหลังเมื่อ 8 ปีที่แล้ว “ป้าๆ ก็บ่นกัน ตั้งแต่มาอยู่ที่นี่สามีไม่เคยให้ทำงานหนักขนาดนี้เลย มีแต่เด็กวัดทำแคบหมูนี่แหละ” 

ชีวิตประจำวันของธนะโรจน์ดำเนินอยู่เช่นนี้ กระทั่งแคบหมูทำรายได้มากกว่างานประจำ ชายหนุ่มจึงตัดสินใจลาออกจากร้านอาหารและร้านดอกไม้เพื่อเดินหน้าทำแบรนด์แคบหมูตามเป้าหมายของตัวเอง

“ที่รัฐฮาวายจะมีกฎหมายว่า หากเราทำอะไรขายก็ตาม เราจะใช้พื้นที่ในบ้านแบบเมืองไทยไม่ได้ ผมจึงต้องไปหาพื้นที่ครัวที่เขาได้ใบอนุญาตการทำครัวจากรัฐ ซึ่งก็คือร้านอาหารต่างๆ แล้วเช่าครัวกับเขา เสร็จแล้วซื้อประกันอาหาร แล้วเจ้าหน้าที่รัฐจะมาตรวจ ดังนั้นเราต้องมีทุกอย่างครบตามที่กฎหมายกำหนด”

การทำธุรกิจอย่างถูกกฎหมายทำให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่น แต่แล้ววันหนึ่งธนะโรจน์ก็ต้องเจอกับโจทย์ยากที่สุดที่ทำให้เขาท้อกับการทำธุรกิจในดินแดนแห่งเสรีภาพอย่างอเมริกา

“วันนั้น USDA (กระทรวงเกษตรสหรัฐ) มาตรวจเจอว่าเกาะหนึ่งในรัฐฮาวายทำผิดกฎหมาย เขาเลยตามไปตรวจเกาะอื่นๆ แล้วมาถึงร้านที่ผมเช่าครัวอยู่ เขาบอกผมว่ายูไม่สามารถผลิตได้เพราะผิดกฎหมายประเทศ”

พูดให้เข้าใจง่ายคือการทำผลิตภัณฑ์ที่มาจากเนื้อสัตว์จะต้องขออนุญาตจากหน่วยงานระดับประเทศก่อนจำหน่ายสินค้า โดยผู้ผลิตจะต้องมีพื้นที่โรงงานของตัวเอง มีครัวที่สะอาด มีการฆ่าเชื้ออย่างถูกต้อง นี่จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่อเมริกาให้ความสำคัญมาก

“นี่เป็นโจทย์ที่ผมท้อที่สุด เพราะเราไม่มีความรู้อะไรเลย แล้วผมไม่ได้เก่งภาษาขนาดนั้น เขาบอกว่าถ้าผิด 3 ครั้งจะต้องไปขึ้นศาล แล้วคุณสู้ไม่ได้แน่ เพราะรัฐจะฟ้องคุณ ดีไม่ดีอาจจะต้องโดนส่งกลับไทย มันเหมือนกับเราทำสินค้าที่ไม่มี อย.” ธนะโรจน์เล่าความทุกข์ใจในช่วงนั้น

“แต่ผมถอยไม่ได้ เพราะเรามีน้องที่กำลังเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ แล้วแม่ก็ไม่ค่อยสบาย ทำงานได้ไม่มาก เราเป็นเสาหลักที่ต้องดูแลทางบ้านก็ต้องตัดสินใจสู้”

โชคดีที่เจ้าหน้าที่แห่ง USDA ให้คำแนะนำในหลายด้าน “เขาบอกว่าช่วยยูได้นะ แต่ยูต้องทำให้ถูกกฎหมาย”

ชายเจ้าของแบรนด์แคบหมูสัญชาติไทยจึงค่อยๆ ศึกษาวิธีการขออนุญาตให้ถูกต้อง และได้รับคำแนะนำให้ปรึกษาคนที่ผ่านประสบการณ์ดำเนินเรื่องมาช่วยเหลือ “เขาเป็นอดีตเจ้าหน้าที่รัฐนี่แหละ แต่เขามีใบอนุญาตในการรับจ้างดำเนินเอกสารให้ถูกต้องและถูกกฎหมายได้ ในเมื่อเราไม่มีความรู้ เราก็ต้องให้เขาช่วย” 

โดยในขั้นตอนนี้ธนะโรจน์ต้องหาพื้นที่ทำโรงงาน ซึ่งใช้เวลาร่วมปีจนได้พื้นที่ร้านอาหารเก่าของคนญี่ปุ่นรายหนึ่งโดยที่เขาจะต้องปรับปรุงซ่อมแซมให้ได้ตามมาตรฐานและถูกกฎหมาย 

อันที่จริงรัฐฮาวายมีพื้นที่ครัวสนับสนุนให้ SME หน้าใหม่ได้เริ่มต้นตั้งไข่ธุรกิจอย่างถูกต้องและปลอดภัยเช่นกัน แต่เนื่องจากเขาไม่เก่งเรื่องภาษาที่จะดำเนินการและทำผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ จึงไม่ได้ไปใช้บริการนี้

“ผมทำทุกอย่างเองเลย เพราะเรียนจบเทคนิคเลยมีความรู้เรื่องซ่อมบ้าน

“แต่ระหว่างนั้นผมก็ต้องทำแคบหมูขายไปด้วย เพราะไม่งั้นจะไม่มีเงินซ่อมร้านและทำธุรกิจเลย กิจวัตรของผมคือตื่นตี 4 มาทอดแคบหมู แล้วขอให้ป้าๆ พี่ๆ กรรมการวัดมาช่วยแพ็ก ตอน 6-7 โมงผมก็เอาไปขายที่ไชน่าทาวน์ เสร็จแล้วไปซ่อมร้าน แล้วกลับมาต้มหนังหมูเพื่อเอาไปอบเตรียมทอดตอนเช้า แล้วกลับไปซ่อมร้านต่อจนถึงเที่ยงคืน”

เขาใช้ชีวิตวนลูปแบบนี้อยู่ 1 ปี จนกระทั่งถึงเวลาที่ USDA มาตรวจโรงงาน

“ผลิตภัณฑ์เราต้องเอาเข้าห้องแล็บ ตรวจสอบแบคทีเรีย เช็กว่ามีเชื้อราไหม ระบบน้ำ ระบบโรงงาน อุณหภูมิได้ไหม คนจากส่วนกลางมาตรวจอีก 1 อาทิตย์เต็มๆ เข้มข้นมาก มาอยู่ที่นี่ทำให้เรารู้เลยว่าคำว่าโปร่งใสเป็นยังไง” 

ธนะโรจน์เล่าว่าระหว่างการตรวจ แค่ยื่นน้ำให้เจ้าหน้าที่ยังไม่มีใครรับ “เขาบอกว่าได้สาบานตนต่อรัฐแล้วว่าจะซื่อสัตย์”

หลังตรวจเสร็จเขารอลุ้นคำตอบอยู่สักพัก ในที่สุดก็ได้ใบอนุญาตมาอย่างที่ลงมือทุ่มเทลงไป

“ภูมิใจมาก” แม้ธนะโรจน์จะอธิบายความรู้สึกมาเพียงประโยคเดียว แต่กินความหมายทุกอย่างที่เขาตั้งใจกับมัน

จากร้านโชห่วยสู่ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายสาขาในฮาวาย

สำหรับธนะโรจน์ การวางแผนการตลาดสำคัญพอๆ กับการทำถูกกฎหมาย หลังได้รับใบอนุญาตเรียบร้อยเขาก็เดินหน้าผลิตแคบหมูขายอย่างเต็มรูปแบบในฐานะแบรนด์ Chao Siam 

“การทำการตลาดที่นี่มันยาก หากเปรียบเทียบกับที่ไทย คู่แข่งสินค้าเราส่วนใหญ่คือคนไทยด้วยกัน แต่อเมริกาเราต้องสู้กับหลายๆ ประเทศเพราะมีสินค้าเข้ามาเยอะมากทั้งจากฝั่งยุโรปและเอเชีย สแน็กและแคบหมูก็มีเยอะมากทั้งจากเม็กซิโกและที่อื่นๆ” 

แต่เพราะแคบหมูจาก Chao Siam มีความกรอบ ไม่ใส่ผงชูรส ไม่มีมัน และไม่มีกลิ่นคาวหมู ซึ่งโดดเด่นต่างจากแคบหมูของชาติอื่นๆ ทำให้ธนะโรจน์มีแต้มต่อท่ามกลางตลาดการแข่งขันในเรื่องนี้

“ผมว่าอาจจะต้องขอบคุณบรรพบุรุษเราที่คิดกรรมวิธีแบบนี้มา เพราะของเราต้องต้ม เอาไปตากหรืออบ แล้วถึงเอามาทอด มันเลยไม่เหมือนคนอื่น”

เมื่อมีสินค้าที่ดีแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือทำยังไงให้คนรู้จักแคบหมูสัญชาติไทยจนสามารถส่งขายให้กับร้านค้าชั้นนำทั่วเกาะฮาวายและมีรายได้เดือนละเกือบแสนดอลลาร์สหรัฐ ผู้ก่อตั้ง Chao Siam สรุปเคล็ดลับสำคัญมาให้เรา ดังนี้

หนึ่ง–บุกตลาดโชห่วยและร้านเล็กๆ เพื่อสร้างฐานตลาดให้แข็งแรง

“ผมให้ความสำคัญกับการมีตลาดเป็นของตัวเองก่อน เรื่องนี้เป็นหัวใจเลย เพราะถ้าเราไปเริ่มส่งขายให้ห้างใหญ่หรือให้เอเจนซีซึ่งเป็นคนกลางในการหาตลาดให้เราเขาจะกินรวบตลาด มันจะมีสัญญาระบุว่าเราห้ามขายให้ใคร เราจะไม่มีทางได้เข้าที่อื่น ดังนั้นต้องสร้างอำนาจต่อรองของเราด้วยการสร้างตลาดตัวเองก่อน อย่างในย่านไชน่าทาวน์ผมดักไว้ทุกมุมเลย ทุกร้านต้องมีของผมไว้ก่อน”

เขาใช้เวลา 2 ปีในการเดินเข้าหาร้านโชห่วยไปพูดคุยด้วยตัวเอง ทำให้ผูกพันธ์ฉันมิตรกับหลายคน แต่ละร้านก็คอยช่วยเหลือบอกต่อร้านอื่นๆ ให้รับสินค้าจากเขาไปขาย จนเขามีฐานตลาดร้านค้าเล็กๆ กว่า 40 ร้านที่จะต้องส่งของให้ ทั้งยังคอยเสนอแนะเขาเรื่อยๆ ทำให้พัฒนาแคบหมูให้มีรสชาติถูกปากชาวอเมริกันมากขึ้น

“ต่อจากนั้นจะเริ่มมีร้านใหญ่ๆ เข้ามาหาเรา อย่างเช่นร้านค้าในปั๊มน้ำมันที่มีหลายๆ สาขา อันนี้เราได้คุยกับเขาเอง ไม่ได้ผ่านคนกลาง

“สิ่งสำคัญคือเราต้องอดทน ค่อยๆ ทำไป อย่าใจร้อน อย่าคิดว่าเงินสำคัญ ความรู้สำคัญกว่า คุณมีสินค้า มีเงิน มีทุน แต่ถ้าไม่มีตลาดคุณก็จบได้เหมือนกัน ดังนั้นอย่าดูถูกตลาดโชห่วย ทุกวันนี้ที่ผมเติบโตได้ก็เพราะมิตรภาพจากพวกเขาเหมือนกันนะ”

เมื่อไปสู่พาร์ตที่ต้องขายกับร้านค้าชั้นนำ ธนะโรจน์ก็มีอำนาจในการต่อรองได้แล้วว่าไม่สามารถทำการค้าผูกขาดโดยห้ามให้เขาไปขายที่อื่นๆ แต่สามารถตกลงรายได้ในเปอร์เซ็นต์ที่เหมาะสมกันได้

“อีกเรื่องที่ต้องระวัง เวลาเราขายของในห้างได้บางคนจะหลงดีใจ เพราะตอนแรกเขาจะสั่งเยอะ เช่น ล็อตแรกสั่ง 3,000 แต่อย่าเพิ่งดีใจ เพราะนั่นแค่ครั้งแรก เราต้องคอยติดตาม อย่างล็อตที่ 2 เหลือ 2,000 ล็อตที่ 3 เหลือ 1,000 ทีนี้ล็อตต่อๆ ไปก็อยู่ที่ 1,000 นั่นแสดงว่านี่คือยอดคงที่ของเรา

“เรื่องสำคัญคือเราจะทำยังไงให้สินค้าเราติดตลาด ไม่ใช่แค่ขายในห้างได้แล้วสำเร็จ แต่เราต้องทำให้ขายให้กับลูกค้าได้ด้วย ซึ่งมันก็มาจากคุณภาพสินค้าเรานี่แหละ ผมได้ลูกค้าที่เคยซื้อตามร้านโชห่วยที่เวลาไปเดินห้างแล้วเขาก็ซื้อจากที่นั่นด้วย” 

สอง–มีตลาดที่แน่นอนแล้วต้องมีทุนที่ต่อยอดได้

การมีตลาดที่แน่นอนเท่ากับเรามั่นใจได้ว่าจะสามารถต่อยอดธุรกิจได้ ดังนั้นการลงทุนจึงเป็นสิ่งจำเป็น

“ตอนแรกผมมีเงินจากการทำงานประจำ พอมาทำธุรกิจเต็มตัวผมก็สามารถกู้เงินมาลงทุนได้แล้วเพราะมีรายได้ในบัญชีตลอด อาจจะไม่ได้กำไรมากแต่โตตลอด จากที่เดือนหนึ่งได้ 20,000-30,000 กลายเป็น 50,000-60,000 มาจนถึง 70,000-80,000 ก็ถือว่าธุรกิจเติบโต”

“เมื่อก่อนผมมีเงินในบัญชีพันกว่าดอลลาร์เองมั้ง ตอนไปกู้ไม่มีเงินนะ ธนาคารถามว่าจะเอาเท่าไหร่ ผมบอกว่าเอาสัก 50,000 แล้วกัน เขาถามว่าพอเหรอ แสนหนึ่งพอไหม เขาให้เยอะมาก ผมบอกไม่เป็นไรเยอะไป (หัวเราะ)”

สาม–ขยายฐานการผลิตให้ตอบโจทย์กับขนาดตลาด

“กับตลาด เราจะตกลงกันว่าจะต้องส่งให้เขาเท่าไหร่ ถ้าเขาสั่งเยอะเราจะต้องมาคำนวณแล้วว่าต้นทุนเราเท่าไหร่ คนงานเราต้องเพิ่มเท่าไหร่ เช่น ปกติผลิต 100 ถุง ใช้คนงาน 2 คน แต่ถ้ามีการสั่งเพิ่มมาอีก 200 แสดงว่าต้องเพิ่มคนมาอีก 2 คน และต้องสั่งหมูเพิ่มอีกกี่กิโลฯ เรื่องพวกนี้ต้องคำนวณได้

“เมื่อก่อนผมก็เคยผิดพลาดเหมือนกัน พอเข้าตลาดใหญ่เราไม่รู้ว่าจะต้องใช้กำลังผลิตเท่าไหร่ เสียเงินไปหลายหมื่นดอลลาร์สหรัฐ ตอนหลังเราเปรียบเทียบได้แล้วว่า ถ้าเราขายให้เซเว่นโดยใช้กำลังผลิตเท่านี้ แล้วถ้าจะขายกับปั๊มน้ำมันที่หนึ่งซึ่งมีลักษณะตลาดคล้ายๆ เซเว่นก็จะต้องเพิ่มของและจำนวนการผลิตในปริมาณเท่าๆ กัน”

ยิ่งมีตลาดอยู่ในมือหลายเจ้า การคำนวณต้นทุนจึงเป็นเรื่องสำคัญและละเอียดมากขึ้น เนื่องจากการบริหารจัดการของแต่ละที่ไม่เหมือนกัน ธนะโรจน์เปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า ถ้าเป็นร้านโชห่วยทั่วไปเขาจะสามารถโทรไปเช็กยอดสินค้าและจัดสรรการส่งสินค้าแต่ละเดือนได้ยืดหยุ่นกว่า แต่ร้านค้าชั้นนำจะต้องมีการสั่งสต็อกของไว้เป็นรอบ และไม่สามารถโทรเช็กสินค้าได้ ทำให้ต้องผลิตให้ได้ตามออร์เดอร์แต่ละรอบ 

จนถึงตอนนี้เป็นเวลากว่า 8 ปีแล้วที่ธนะโรจน์ขับเคลื่อน Chao Siam จนทำให้แคบหมูสัญชาติไทยสามารถหาซื้อได้ที่ร้านโชห่วยในเมืองโฮโนลูลู ร้านค้าชั้นนำทั่วฮาวายอย่าง ABC Stores, Walmart, 7-Eleven, Longs Drugs, Don Quijote, Pacific Supermarket, Tamura Super Market, Safeway, Foodland และร้านค้าในปั๊มน้ำมันอย่าง Aloha Gas และ HELE

“ผมชอบอเมริกาตรงที่เขาวัดกันที่ความสามารถ คุณเก่งคุณก็อยู่ได้ ไม่มีคำว่าเส้นสาย ไม่ใช่มีเงินแล้วจะทำได้ทุกอย่าง บ้านเมืองเขาถึงเจริญ เพราะว่าคนมีคุณภาพและมีความสามารถ ใครที่จะเติบโตได้ก็ต้องเติบโตด้วยลำแข้งตัวเอง ต้องช่วยเหลือตัวเอง และต้องทำอย่างถูกกฎหมาย โปร่งใส ตรวจสอบได้ ผมอยากให้เมืองไทยมีแบบนี้

“เพราะการที่เราทำอะไรด้วยเส้นสายมันปิดโอกาสให้กับคนที่เขามีความสามารถจริงๆ”  


 #ChaoSiamแบรนด์แคบหมูสัญชาติไทยในอเมริกา

ขอบคุณที่มา   ::      https://adaymagazine.com/

09 กันยายน 2564

“อัฟกานิสถาน” เมื่อ 50 ปี ก่อนยุคบ้านเมืองล่มสลาย

 

“อัฟกานิสถาน” เมื่อ 50 ปี ก่อนยุคบ้านเมืองล่มสลาย


หากพูดถึง อัฟกานิสถาน หลาย ๆ คนคงไม่คิดถึงผู้หญิงใส่กระโปรงสั้น รถสวย ๆ และการดำเนินชีวิตแบบเสรีนิยม แต่หากมองย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ 1960 แล้วล่ะก็ อัฟกานิสถาน มีความเป็นอยู่ที่แตกต่างจากปัจจุบันอย่างมาก จนคุณคิดว่าอาจเป็นคนละประเทศก็ว่าได้

ภาพถ่ายเหล่านี้ เป็นฝีมือของศาสตราจารย์ ดร.บิลล์ พอดลิช ชาวอเมริกัน ผู้ที่ไปทำงานให้กับยูเนสโกในอัฟกานิสถานในปี 1967 เขาทำหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องหลักสูตรการศึกษาที่วิทยาลัยครูไฮเออร์ในกาบูล และในระหว่างนั้นเอง เขาได้ถ่ายภาพเอาไว้มากมาย ก่อนที่โซเวียตจะบุกโจมตีในทศวรรษถัดมาและดึงอัฟกานิสถานเข้าสู่สงคราม จนกระทั่งตามด้วยสงครามระหว่างตาลีบันและอเมริกาในปี 2001 นั่นทำให้ประเทศเล็ก ๆ ที่มีความสงบสุขได้หายไป ไม่เหลือเค้าเดิมอีกเลย มาลองดูวิถีชีวิตของชาวอัฟกานิสถานในอดีตกันว่า พวกเขามีความเป็นอยู่กันอย่างไรบ้าง

1. ถ่ายภาพให้กับสาวน้อย ในสวนแพกห์มาน

2. นักศึกษาที่วิทยาลัยครูไฮเออร์ในกาบูล

3. ภาพของนักเรียนเมื่อ 60 ปีที่แล้ว

4. สาว ๆ โรงเรียนมัธยมในอัฟกานิสถาน

5. สนามเด็กเล่น

6. ห้องเรียนใต้ต้นไม้

7. การเดินทางด้วยรถบัส

8. คู่เด็กหญิงพี่น้อง ออกมาเดินในตลาด

9. การแต่งหน้าเค้ก

10. ชั่วโมงเร่งด่วน

11. สุนัขอัฟกันฮาวด์

12. เวลาร้องเพลงจิบน้ำชา

13. สาวผมบลอนด์ กับหนุ่มชาวอัฟกัน

14. ห้องเรียนของโรงเรียนนานาชาติอเมริกัน ในกาบูล
















15. เดินเลือกซื้อผ้าพันคอ

16. ขนมกระทะร้อน ท่ามกลางทะเลทราย

17. ที่จอดรถในวิทยาลัย

18. พนักงานขับรถ

19. หุบเขากาบูล

20. อุโมงค์ซาลัง

ในปัจจุบันนี้อย่างที่เราทราบกันดีว่าอัฟกานิสถานเปลี่ยนไปมากมายขนาดไหน ในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้เหมือนกัน เราก็ได้แต่หวังว่าสถานการณ์ที่อัฟกานิสถานจะมีทางออกที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ที่มา : Facebook | boredpanda 





























รวมข้อความแสดงความเสียใจที่สั้นที่สุด เรียบง่าย และจริงใจที่ดีที่สุด

  รวมข้อความแสดงความเสียใจที่สั้นที่สุด เรียบง่าย และจริงใจที่ดีที่สุด ข้อความแสดงความเสียใจสั้นๆ ง่ายๆ เป็นการยากที่จะเขียนข้อความแสดงความเ...